Céline Boutier
- oilhath
- May 1, 2019
- 2 min read
เดือนที่ผ่านมาเป็นเดือนแห่งเดอะมาสเตอร์จริงๆ ใครๆที่ได้ดู เอาเป็นว่าสะใจกันสุดๆกับการกลับมาของไทเกอร์ วู้ดส์ จอมพญาเสือ ลูกครึ่งไทย อเมริกัน ที่พวกเราชาวไทยแทบจะลืมกันไปแล้วว่า ไทเกอร์เป็นลูกครึ่งไทย และยังมีสีสันอีกมากมาย เช่น อาร์ม กิรเดช อภิบาลรัตน์ ได้ชวนสองสาวพี่น้อง โม เม ไปร่วมแข่งขันในพาร์สามคอนเทส ที่เป็นไฮไลท์การแข่งขันประจำทุกปีก่อน เดอะมาสเตอร์ เอาเป็นว่า รายการนี้ เรียกไฮไลท์กันตลอดทั้งสัปดาห์เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการแข่งขันครั้งแรกที่ สนามกอล์ฟ Augusta จัดขึ้น นั่นคือ รายการ Augusta National Women's Am หรือ เรียกกันว่า ANWAGolf ซึ่งจัดขึ้นก่อนสัปดาห์ รายการ เดอะมาสเตอร์ เป็นครั้งแรกที่เรียกได้ว่า อนุญาตให้ผู้หญิง แข่งขันกันในสนามนี้ อย่าว่าแต่แข่งเลย ก่อนหน้านี้เรียกได้ว่า ไม่อนุญาตให้เล่นเลยด้วยซ้ำ ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และหนึ่งในนักกอล์ฟหญิงไทยที่ได้ร่วมแข่งรายการนี้ด้วย คือ น้องจีน อาฒยา ฐิติกุล
แต่ในเดือนนี้ ดิฉันติดใจอยู่เรื่องหนึ่งค่ะ เพราะไม่นานมานี้ มีนักกอล์ฟสัณชาติฝรั่งเศส หน้าตาเอเชีย ที่เพิ่งคว้าแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ รายการ ISPS Handa Vic Open ณ สนาม 13th Beach Golf Links ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อเริ่มค้นประวัติ ปรากฎว่าเป็นคนไทยที่ไปเกิดและเติบโตที่ประเทศฝรั่งเศส นักกอล์ฟไทย สัณชาติฝรั่งเศส อายุ 25 ปี คนนี้ เชื่อว่าหลายคนยากที่จะเชื่อว่าเป็นคนไทยแท้ๆ เริ่มต้นจากชื่อของเธอก่อนเลย ที่ไม่มีรู้ได้เลยว่าเป็นคนไทย ถ้าไม่เคยเห็นหน้า
เมื่อเดือนก่อน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณพ่อชาวไทยของเธอ ที่อพยพครอบครัวไปตั้งรกรากอยู่ที่ฝรั่งเศส คุณพ่อของเธอชื่อว่า คริสทอฟ บูทิเย่ คุณคริสทอฟเล่าถึงที่มาที่ไปว่าทำไมถึงมาอยู่ฝรั่งเศส โดยเริ่มจากย้ายไปลาว แล้วเพื่อนๆชวนให้ไปอยู่ฝรั่งเศสเพราะจะได้มีชีวิตที่ดีกว่า จึงมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ซึ่งคุณพ่อของเธอก็โชคดีที่ได้รับการอุปการะจากครอบครัวชาวฝรั่งเศส นามสกุล บูทิเย่ โดยแรกเริ่มเลย คุณคริสทอฟเป็นนักกีฬาเทนนิสมาก่อน แต่พออายุมากขึ้นก็หันมาเล่นกอล์ฟ แล้วก็เริ่มให้ลูกๆทั้งสามคน เล่นกอล์ฟไปด้วยยามว่าง เซลีนและพี่สาวฝาแฝดคิตตี้ เริ่มเล่นตอนหกขวบ พร้อมๆกับน้องชายที่เริ่มเล่นตอนสามขวบ เนื่องจากสมัยก่อน โรงเรียนกอล์ฟจะเริ่มรับตั้งแต่แปดขวบขึ้นไป เพราะฉะนั้นคุณพ่อจึงเป็นคนสอนลูกๆเองในช่วงหกถึงแปดขวบ
ตอนเด็ก คุณพ่อของเธอจับให้เล่นกีฬา เพราะตัวคุณพ่อเองเป็นนักเทนนิส จนกระทั่ง มาเริ่มเล่นกอล์ฟ เซลีนเริ่มฉายแววตั้งแต่เด็กๆ พอเริ่มเล่นดี เลยพาไปแข่ง พออายุสิบเอ็ดถึงสิบสาม ก็เริ่มคว้าแชมป์ต่างๆ จนกระทั่งมีแมวมองเลยมาชวน ทางสมาคมกอล์ฟฝรั่งเศสจึงช่วยสนับสนุนตลอดเวลา เมื่ออายุสิบหกปี เซลีนก็ได้เข้าโรงเรียนกีฬาที่ฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสมาคมกอล์ฟฝรั่งเศส ซึ่งโรงเรียนนี้จะให้เรียนครึ่งวัน ตีกอล์ฟครึ่งวัน คุณครูก็มาสอนหนังสือที่สนามกอล์ฟ พอช่วงอายุ 17-18 ก็ได้มีโอกาสไปแข่งกอล์ฟที่อเมริกา แน่นอนว่าประเทศนี้คือประเทศที่เฟ้นหาความสามารถของนักกีฬา และเซลีนก็ไม่พ้นที่จะมีแมวมองมาชวนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย คุณคริสทอฟพูดถึงมหาวิทยาลัยที่เข้ามาชวนมีประมาณสี่ห้าที่ และเซลีนก็เลือกที่จะอยู่มหาวิทยาลัยดุ๊คส์ สาขาจิตวิทยา เมื่อจบมหาวิทยาลัย ก็เข้ามาเล่นในยูโรเปี้ยนทัวร์ซักพัก แล้วก็กลับมาเล่นใน แอลพีจีเอ
กลับมาเล่าถึงรายละเอียดกันบ้าง ช่วงในวัยเด็กของลูกๆคุณคริสทอฟ มีหลากหลายกิจกรรม แต่ทำไมถึงหันมาตีกอล์ฟอย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้ เซลีนเล่นเปียโนได้ดี แต่ตอนหลังคุณคริสทอฟบอกกับลูกๆว่าต้องเลือกว่าจะเล่นกอล์ฟ หรือ เล่นเปียโน ซึ่งถ้าคนไหนเก่งและมีพรสวรรค์ มีความสามารถ ก็จะส่งไปในโรงเรียนนั้นๆ คุณคริสทอฟและภรรยา จะพาลูกๆไปเรียนว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ เล่นเปียโน ตีเทนนิส แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้องเลือกเอาอย่างเดียวที่จะส่งไปได้ พี่สาวฝาแฝด ไม่เลืิอกที่จะเล่นกอล์ฟต่อหลังจากเล่นมาสามปี เหตุผลก็คือ ทั้งพ่อและแม่ ไม่สามารถแบกรับความรับผิดชอบไหว เพราะมีลูกถึงสามคน และมีรายได้ทางเดียว ดังนั้นใครที่ชอบแบบไหน ก็จะส่งไปแบบนั้น เซลีนเลือกที่จะเล่นกอล์ฟ ในขณะที่เล่นเปียโนอยู่ได้ดีมาก เพราะเซลีนเล่นอยู่โรงเรียนเฉพาะทางด้านดนตรี จนกระทั่งคุณครูถึงกับถามว่าทำไมต้องให้น้องหยุดเรียนแบบนี้ ซึ่งคุณพ่อบอกว่าเด็ดเดี่ยวว่า เด็กต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และน้องก็เลือกที่จะเล่นกอล์ฟอย่างเดียว เพราะพ่อแม่ต้องขับรถไปส่งน้องทั้งสองคน เลยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่พี่สาวฝาแฝดอีกคนของเซลีนก็จะออกแนวตรงกันข้าม หน้าตาไม่เหมือนกัน เป็นไข่คนละใบ คนนี้จะดูอ่อนแอ นิ่มนวล ใครๆก็รัก แต่อีกคนเป็นนักกีฬา เมื่อเซลีนเลือกที่จะเล่นกอล์ฟ จึงได้มีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนสำหรับนักกีฬาของฝรั่งเศสที่ ไปอยู่เมือง Toulouse เพราะทีมชาติฝรั่งเศส ภายใต้สมาคมกอล์ฟฝรั่งเศสอยู่เมืองนี้ด้วย ซึ่งห่างจากปารีสประมาณ 700 กม. เสาร์อาทิตย์สามารถกลับบ้านได้ แต่น้องไม่ค่อยกลับ เพราะอยากซ้อม และต้องไปแข่ง คุณพ่อมีแอบบ่นว่า เป็นเพราะน้องต้องออกมาอยู่ด้วยตัวคนเดียวตั้งแต่อายุ 16 เลยทำให้ภาษาไทยไม่แข็งแรง เวลาอยู่กับลูกๆพูดไทย แต่ลูกๆตอบกลับเป็นฝรั่งเศส เรื่องน่าขำคือ เคยจ้างครูไทยมาสอน สอนไปมาแค่ปีเดียว ครูไทยคุยภาษาฝรั่งกลับ เลยเลิกจ้างไปเลย และพอได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา คุณพ่อพูดไว้เลยว่า ถ้าให้ส่งไปเรียนเอง คงจะยาก เพราะค่าเล่าเรียนแพง แต่น้องได้ทุน เลยหมดห่วง แม้จะหมดห่วงเรืองการเงิน แต่ก็ไม่วายที่จะรู้สึกสงสารลูก เพราะช่วงที่ไปอยู่สี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อไปแข่งกลับมา ก็ต้องสอบ ชีวิตทรหด หนังสือต้องอ่าน มือถือช้อนกินข้าว อีกมืออ่านหนังสือ ถึงขนาดโทรมาร้องไห้ แต่เค้าบอกว่าจะสู้ สงสารลูก แต่เค้าจะสู้ และจะไม่ท้อ
การที่ได้เรียนกอล์ฟกับคุณพ่อ 5 ปี เมื่ออายุ 6-11 ปี ได้โค้ชผู้หญิงมาช่วยสอนชื่อ การีน มาเชอร์ ถึง 3 ปี และตั้งแต่เซลีนอายุ 16 ปี ก็เดินทางสายกอล์ฟอย่างเดียว ด้วยตัวคนเดียว เป็นนักสู้ นี่คือสิ่งที่คุณคริสทอฟกล่าว เมื่ออายุ 18 ปี ก็ไปอยู่กับทางมหาวิทยาลัย เซลีนและน้องชาย ได้ทุนเรียนที่อเมริกาเกี่ยวกับกอล์ฟ แต่น้องชายไม่ได้เลือกทางสายแข่ง โดยเลือกที่จะไปทางด้านสอนและบริหารกอล์ฟ ซึ่งน้องชายเธอก็ไม่คิดจะถือถุงกอล์ฟให้พี่สาว เพราะต้องเดินทาง ไม่มีชีวิตส่วนตัว เลยเลือกที่จะเดินอีกทาง ตอนนี้ก็อยู่กับโค้ช Cameron McCormick โค้ชของจอร์แดน สปีธมาได้สามสี่ปีแล้ว โดยมีแพลนว่าจะอยู่ และอาจจะซื้อบ้านอยู่ใกล้ๆโค้ช เลย เพื่อเวลาว่างจากแข่ง ก็สามารถมาหาโค้ชได้ตลอดเวลา
ปัจจุบัน คุณคริสทอฟ สอนกอล์ฟอยู่ที่ปารีส คันทรีคลับ จะทำงานเพียงสามสี่เดือนต่อปี แล้วที่เหลือก็ตามลูกไป ซึ่งตอนนี้ก็เกษียณแล้ว แต่ก็ไม่เหงาเลย เพราะตามลูกไปด้วยเวลาแข่งขัน เหมือนชดเชยเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ส่ิงที่น่าสนใจคือ กว่าที่จะสามารถสอนกอล์ฟได้ ต้องเข้าไปเรียน มีหลักสูตรด้วยกันถึงสองปี ต้องเรียนการปลูกหญ้า รู้จักลักษณะของดิน คนพิการต้องตียังไง เรียนจิตวิทยา เพื่อได้ประกาศนียบัตร การที่ลูกสาวเป็นมือหนึ่งของฝรั่งเศส ทางสมาคมจึงมีการให้ความช่วยเหลือมาก สิ่งที่คุณคริทอฟสอนลูกๆ คือ การไม่ลืมบุญคุณคนคือสิ่งสำคัญ
หลังจากที่ดิฉันสัมภาษณ์มาหลายคน บอกได้เลยว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโลก คุณก็สามารถเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้ มันรู้สึกได้ถึงภาพที่ฉายเป็นภาพเดียวกัน แต่แค่คนละเวอร์ชั่นเท่านั้น ถ้าคุณเด็ดเดี่ยว ลงมือ ตั้งใจ ทำอย่างจริงจัง ทุกวัน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คนจะสำเร็จได้ แทบจะมองไม่เห็นอุปสรรคด้วยซ้ำ แต่เค้าจะเห็นเพียงแต่เป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าคุณจะพยายามแค่ไหน คำว่า จังหวะ และ โอกาสที่เหมาะสม ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่ง เพราะเมื่อเราพยายามไปถึงจุดหนึ่ง แต่โอกาสและจังหวะ ไม่ตรงกัน เราก็ต้องเลือกทางเดินอื่น ที่อาจจะเหมาะสม หรือ ใกล้เคียงกว่า
ความคิดเห็น