A Lesson from Virada...
- oilhath
- Feb 18, 2019
- 4 min read

สวัสดีปีใหม่ค่า ห่างหายกันไปหลายเดือนอยู่พอสมควร มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่ได้มาอัพเดต ซึ่งขณะที่เขียนนี้ ก็ล่วงเลยปีใหม่มาพอสมควร ยังไงก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกคน มีสุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใด ก็ขอให้ได้อย่างที่คิดนะค้า ปี 2019 นี้และแล้วก็เป็นไปตามคาด เพราะโปรเม เอรียา จุฑานุกาล ขึ้นเป็นมืออันดับหนึ่งของโลก ส่วนฝั่งโปรอาร์ม กิรเดช อภิบาลรัตน์ ก็ได้ทัวร์การ์ดเต็มตัว ลงเล่นพีจีเอเต็มฤดูกาล เป็นเรื่องที่น่ายินดีจริงๆที่มีนักกอล์ฟไทยไปโลดแล่นในระดับโลกทั้งชายและหญิง แต่ก่อนจะมาเป็นซุปตาร์ได้อย่างวันนี้ นักกอล์ฟไทยหลายคนก็ไปปูทาง สร้างชื่อเสียงไว้มากมาย อาทิ โปรบุญชู เรืองกิจ โปรธงชัย ใจดี ส่วนฝั่งผู้หญิงรุ่นบุกเบิก ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพูดคุยเมื่อปลายเดือนกันยายน ปีที่แล้ว นั่นก็คือ โปรอุ๋ยวิรดา นิราพาธพงศ์พร ต้องบอกก่อนเลยว่า ดีใจมาก ที่สามารถนัดโปรอุ๋ยได้ เพราะตารางงานของโปรอุ๋ยแน่นเอี๊ยด เรานัดเจอกันช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ร้านกาแฟแถวบ้านโปรอุ๋ย ดิฉันกับโปรอุ๋ย รู้จักกันมานานตั้งแต่ที่ดิฉันยังเป็นเยาวชน ส่วนโปรอุ๋ยก็เป็นรุ่นพี่ใหญ่ในวงการกอล์ฟที่ไปโลดแล่นในฝั่งอเมริกา เป็นหนึ่งในไอดอลตลอดเรื่อยมา ทั้งเรื่องของความคิด การใช้ชีวิต และเป็นตัวอย่างที่ดี ให้แก่วงการกอล์ฟ
วันนั้น โปรอุ๋ย ทักทายด้วยหน้าตาสดใส ได้มีโอกาสพูดคุยและอัพเดตชีวิตของกันและกัน ก่อนที่จะค่อยๆเข้าบทสัมภาษณ์ ไปแบบไม่รู้ตัว ว่าด้วยเรื่องงานที่ทำปัจจุบัน และแน่นอนว่า จากวันที่โปรอุ๋ยหันหลังให้กับการแข่งขันกอล์ฟ โปรอุ๋ยได้ทำงานมาแล้วหลากหลายแนว ไม่ว่าจะสอนกอล์ฟ เขียนคอลัม เป็นพิธีกรในงานอีเว้นต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นดาราหญิงแห่งวงการกอล์ฟที่งานชุกที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งผลงานทุกชิ้นล้วนบอกเล่าถึงประสบการณ์และตัวตน
ก่อนที่จะนอกเรื่องไปไกล คงจะหนีไม่พ้นถึงคำถามที่ว่าเริ่มมาจับไม้กอล์ฟได้อย่างไร แน่นอนว่าเป็นคำถามเบสิคที่ทุกคนเคยถาม เพราะแม้ว่าจะรู้จักกับโปรอุ๋ยมานาน แต่ก็ไม่เคยถามเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวมาก่อน เธอเล่าว่า เริ่มแรกเดิมทีตั้งแต่เด็ก เรียนอยู่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน แต่มาจับพลัดจับผลูมาเล่นกีฬากอล์ฟก็เพราะ คุณพ่อเป็นคนเริ่มเล่น ทำให้คนในครอบครัวก็เริ่มเล่นกอล์ฟตามไปด้วย เนื่องจากเป็นครอบครัวสายกิจกรรม โดยเฉพาะกีฬา ทางบ้านจะสนับสนุนให้เล่นกีฬาตั้งแต่เด็กๆ ช่วงปิดเทอมจะทิ้งให้ไปเล่นกีฬาที่โปโลคลับ โดยเริ่มจากการเล่นสควอช (เพราะในห้องสควอชมีแอร์ 555) ตีแบต ว่ายน้ำ พอพี่ชายเริ่มโตหน่อย ถึงได้จับไม้กอล์ฟ ช่วงประมาณเจ็ดขวบโปรอุ๋ยก็เริ่มจับไม้กอล์ฟ โดยครอบครัวจะไปออกรอบที่สยามคันทรีคลับ ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า ครอบครัวนี้มีคุณพ่อเป็นหลัก พ่อทำอะไร ทุกคนก็จะตามกันหมด จะไปออกรอบกันเป็นประจำทุกๆศุกร์เสาร์อาทิตย์ ในตอนแรกเลย ก็จะไม่ชอบเล่นกอล์ฟตามประสาเด็กทั่วๆไป เพราะอากาศร้อน แต่อยู่มาวันหนึ่ง พี่ชายไปแข่งกอล์ฟแล้วกลับมาบ้าน พร้อมกับถ้วยรางวัลที่สาม เมื่อมองย้อนกลับไปในยุคนั้น การแข่งขันเยาวชนจะจัดขึ้นปีละครั้ง นั่นคือ รายการ Lacoste Thailand Junior การแข่งขันจะมีในช่วงเดือนเมษายน และ ตุลาคม ตรงกับช่วงปิดเทอมของเด็กไทยทุกคน เอาละสิ พอเห็นพี่ชายได้ถ้วยจากการแข่งขันกอล์ฟ เท่านั้นแหละ ที่ทำให้เด็กหญิงอุ๋ย ตั้งปณิธานกับตัวเองเลยว่า จะต้องได้ถ้วยรางวัลเท่ๆ แบบนี้บ้าง โปรอุ๋ยในวัยเด็กเป็นเด็กน้อยที่ติดพี่ชาย อารมณ์น้องคนเล็ก ส่วนพี่ชายเองก็รักน้อง สามารถให้น้องได้ทุกอย่าง หลังจากวันนั้น โปรอุ๋ยก็เริ่มจริงจังกับกีฬากอล์ฟมากขึ้น จริงจังกว่าการแข่งว่ายน้ำที่เริ่มแรกๆ ทั้งๆที่เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน แต่เมื่อคุณพ่อถนัดเล่นกอล์ฟ กีฬานี้เลยกลายเป็นกีฬาของครอบครัว เพราะถ้าโปรอุ๋ยยังคงจะว่ายน้ำ คุณพ่อก็ทำได้ดีที่สุดแค่ไปรับส่งตามปกติ แต่ไม่สามารถเป็นโค้ชให้ได้ แต่ถ้าเล่นกอล์ฟ ก็จะสามารถเล่นด้วยกันได้ทั้งครอบครัว
ช่วงที่เริ่มเล่นกอล์ฟจริงจัง โดยมากจะไปออกรอบกันที่สยามคันทรีคลับอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยสมัยก่อนไม้เด็กยังไม่มี ต้องใช้เหล็ก 8 ของคุณพ่อ มาตัดให้สั้นลง แล้วก็ตีอยู่ประมาณ 50 หลา เตาะแตะไปเรื่อย แต่ก็ต้องมาจอดที่หลุมนึงทุกที เพราะต้องตีข้ามน้ำที่ 40 หลา โปรอุ๋ยตีตกน้ำทุกทีจนท้อและงอแงตามประสาเด็กๆ แต่ก็ได้คุณพ่อที่เข้าใจและให้กำลังใจ โดยคุณพ่อสอนว่า เมื่อเจออุปสรรค ก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ พยายามเกลี้ยกล่อม ให้โปรอุ๋ยพยายามขึ้นเรื่อยๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง โดยใช้เวลาหนึ่งปีเพื่อซ้อม และเตรียมตัวไปแข่งขันให้ได้ถ้วยรางวัลเท่ๆแบบพี่ชายในปีถัดไป ด้วยความเอาจริงเอาจังแน่วแน่หลังจากซ้อมมาแล้วหนึ่งปี ปีถัดไปก็สามารถคว้าถ้วยรางวัลมาได้เลย แถมได้ที่หนึ่งด้วย ดีกว่าถ้วยของพี่ชายซะอีก พอได้ถ้วยสมใจอยากแล้ว ทำให้มีแรงฮึด และความพยายาม ต่อเรื่อยมา สิ่งที่เด็กหญิงคุยคิด ณ ตอนนั้น คือ ฉันต้องเอาดีทางนี้แน่ๆ เพราะรู้สึกว่าได้ถ้วยเท่กว่า ได้เหรียญจากการแข่งว่ายน้ำเยอะเลย เพราะทุกปีจะได้แข่งว่ายน้ำให้กีฬาสาธิตสามัคคี อย่างเก่งก็ได้แค่เหรียญ แต่พอแข่งกอล์ฟได้ถ้วยรางวัล เท่กว่าใคร ด้วยความสนับสนุนจากครอบครัวให้เล่นกีฬา ทำให้เล่นกอล์ฟเรื่อยมาตั้งแต่สิบขวบ ซึ่งเมื่อย้อนถึงการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนเมื่อสิบกว่าปีก่อน จะมีการแข่งขันเยาวชนปีละสามแมทช์ แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ที่มีแมทช์แข่งแทบจะทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้เอง โปรอุ๋ยก็มุ่งมั่นตั้งใจเรียนและซ้อมกอล์ฟ โดยมีสนามไดร์ฟกอล์ฟกรุงทอง เป็นสนามหลังบ้านที่ซ้อมอยู่เป็นประจำ ทั้งซ้อมทั้งแข่งวนทั้งในไทยและเทศ เช่น รายการ Asia-Pacific, รายการ Junior World ด้วยเป็นคนที่มีความสามารถ ทำให้โปรอุ๋ยเฉิดฉายมากในวงการกอล์ฟเยาวชน เพราะคว้าถ้วยรางวัลตั้งแต่ไฟล์ท C(11-12ปี) B(13-14ปี) และ A (15-17ปี)
เมื่ออายุได้ 13 ปี โปรอุ๋ยสามารถติดทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ได้ ในปีนั้นซีเกมส์จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จุดเปลี่ยนของเด็กหญิงวัยสิมสามอยู่ตรงนี้ก็ว่าได้ เพราะ ได้มีโอกาสเจอกับคนที่มาจุดประกายให้คุณพ่อเรื่องทุนกีฬากอล์ฟของมหาวิทยาลัยในอเมริกา กลับจากซีเกมส์ครั้งนั้นก็มีการวางแผนชีวิตกันยกใหญ่ โดยเริ่มแรกเดิมที คือ จบจากสาธิตประสานมิตร ต่อ สาธิตปทุมวัน และก็คงจะเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามสูตร เมื่อคุณพ่อได้เริ่มศึกษาจริงจัง การจะไปอยู่ที่อเมริกานั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านให้ดี
ก่อนไปเรียนอเมริกา โปรอุ๋ยถูกส่งให้ไปเรียนเตรียมภาษาที่ประเทศออสเตรเลียสองปี ซึ่งจะได้อยู่กับพี่ชายที่เริ่มไปเรียนที่นู่นรอแล้ว ในช่วงมัธยมต้น ก็เข้าเรียนที่โรงเรียนที่ดังที่สุดในหมู่คนไทยในยุคนั้น นั่นคือ Geelong Grammar School เมื่อเริ่มเรียนไปได้ซักพัก ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ เพราะเมื่อได้ลองเข้าไปเรียนจริงๆ กลับกลายเป็นว่า สิ่งที่คิดกับสิ่งที่วางแผน มันไปด้วยกันไม่ได้ เพราะความตั้งใจ คือ สามารถเรียนไปด้วย ซ้อมกอล์ฟไปด้วย แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นว่าได้ซ้อมกอล์ฟน้อยมาก หรือ แทบไม่ได้ซ้อมกอล์ฟเลยก็ว่าได้ วันไหนที่มีโอกาสได้ซ้อม ก็จะไปกับเพื่อน ให้เพื่อนช่วยเก็บลูกกอล์ฟให้ จนมีอยู่วันหนึ่งเพื่อนซี้โดนนกยักษ์ไล่จิกหัว เพราะนกเข้าใจผิดคิดว่าลูกกอล์ฟ คือ ไข่ของมัน และเป็นเพราะเรื่องนี้เอง (พูดไปก็หัวเราะไป เพราะตอนเด็กๆคงกลัวนกยักษ์ จอมโหด) โปรอุ๋ยคิดว่า ถ้ายังอยู่ที่นี่ มีหวังได้เลิกเล่นกอล์ฟแน่ๆ นี่ขนาดยังไม่ได้ขึ้นไปเรียนบนเขาในปีหน้า (Geelong Grammar School ในแต่ละชั้นปีการศึกษา จะอยู่คนละแคมปัสกัน) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้องเลื่อนแผนไปอยู่ที่อเมริกาเร็วขึ้น แต่การที่จะไปอเมริกาก็ใช่ว่าจะสามารถไปได้เลย เพราะช่วงเทอมเปิดการศึกษาต่างกัน ทำให้มีช่วง gap year เลยต้องย้ายกลับมาเรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติที่เมืองไทยประมาณครึ่งปี ก่อนบินลัดฟ้า ไปอยู่ที่โรงเรียน IMG Academy ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผลิตนักกีฬาโดยเฉพาะ และมีสถาบันกอล์ฟชื่อดังอย่าง Leadbetter Golf Academy รวมอยู่ในโรงเรียนด้วย
บททดสอบชีวิตของจริงเลยเริ่มขึ้นจากตรงนี้เลยก็ว่าได้ โปรอุ๋ยบอกว่า ช่วงเตรียมภาษาช่วยเรื่องของการปรับตัว แต่ตอนไปอยู่ที่อเมริกา ต้องมีการปรับตัวมากกว่า เรียนรู้ได้เร็วกว่า เพราะไม่มีคนไทยเลย มันคือ การโดนบังคับไปในตัว ในช่วงสามเดือนแรกถือว่าเป็นช่วงที่หนัก และทรหดที่สุด เพราะถ้าเทียบกับตอนอยู่ที่ออสเตรเลีย มีพี่ชายอยู่ด้วย และมีเพื่อนๆคนไทย แต่ที่อเมริกา ไม่มีใครเลย ตัวคนเดียว มันเลยเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็น big jump ทั้งเรื่องการเรียนและกอล์ฟ เลยก็ว่าได้ ว่ากันง่ายๆเลย คือ เหมือนไปเริ่มต้นใหม่ทุกอย่างหมด เรียนยากขึ้น บังคับใช้ภาษาอังกฤษ แนวความคิดเรื่องกอล์ฟก็เริ่มใหม่หมด จากตอนแข่งกอล์ฟเยาวชนก็ชนะมาตลอด แต่อยู่ที่นี่ต้องมาเจอกับคนที่เก่งมากขึ้น การต่อสู้มากขึ้น และโดยเฉพาะเศรษฐกิจในช่วงนั้น เป็นช่วงค่าเงินบาทลอยตัว 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 50 บาท ก็เป็นห่วงครอบครัวทางบ้าน การไปปีแรกของโปรอุ๋ย ได้ทุน 30% ที่เหลือต้องออกเอง ซึ่งอยู่ราวๆ 20,000 เหรียญสหรัฐ ไหนจะเรื่องแข่งกอล์ฟอีก ก็ค่าใช้จ่ายก็แยกต่างหาก แม้ว่าทางโรงเรียนจะพาไปแข่งขันกอล์ฟ แต่ค่าใช้จ่ายนั้นต้องออกเอง นั่นเป็นแรงผลักดันให้โปรอุ๋ยมีความตั้งใจสูงมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ทุนเรียนเต็มในปีการศึกษาหน้า บอกตามตรงว่า สำหรับเด็กอายุ 14-15 ปี มีกดดันสูงเหลือเกินที่เด็กคนหนึ่งต้องเจอะเจอ ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอมที่สูงลิบลิ่ว เรื่องทักษะกอล์ฟที่ต้องเริ่มใหม่ การเรียนที่ยากและโหดขึ้น ทำให้ในช่วงสามเดือนแรกเกิดอาการท้อแท้และอยากจะกลับบ้าน สมัยก่อน การสื่อสารไมได้สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ ไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือ ทุกสัปดาห์โปรอุ๋ยจะนัดโทรศัพท์กลับมาหาครอบครัว ทุกครั้งที่คุย คุณแม่ก็เชียร์อยากให้ลูกกลับบ้าน ส่วนคุณพ่อก็มีความตั้งใจและเชื่อมั่นในตัวลูกสาว และแผนการอนาคตที่วางไว้ จึงปลอบใจลูกสาวให้ไม่ต้องคิดมาก และ ค่อยๆแก้ไปทีละเรื่อง ซึ่ง ณ ตอนนั้นตัวโปรอุ๋ยเองก็ไม่เข้าใจซักเท่าไหร่ แต่ก็เชื่อฟังและทำตามแผนไปเรื่อยๆแก้ไปทีละเรื่อง ตามอย่างคุณพ่อ จนบังเอิญไปชนะรายการใหญ่รายการหนึ่ง เป็นม้ามืด ชนะตัวเต็ง ในปีนั้นได้ ทำให้โปรอุ๋ยมีแมทช์แข่งมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปคัดตัว และหลังจากนั้น 3-4 เดือน ทุกอย่างก็เริ่มลงตัว และเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งเรื่องกอล์ฟและเรื่องเรียน
เมื่ออยู่มัธยมปลาย เร่ิมเป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะต้องตัดสินใจว่าเลือกมหาวิทยาลัยไหน โปรอุ๋ยเริ่มเขียนจดหมายส่งตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งก็มีให้เลือกอยู่หลายที่ แต่ในใจที่อยากเข้าไปเรียนจริงๆมีอยู่สองที่คือ Stanford กับ Duke สำหรับนักกีฬาโรงเรียนเมื่อสมัยสิบกว่าปีก่อนในอเมริกา ทางมหาวิทยาลัยจะเชิญให้มีการเยี่ยมชมสถาบันได้ โดยนักกีฬาคนหนึ่ง จะสามารถเยี่ยมชมได้ฟรีๆ แต่ไม่เกิน 5 มหาวิทยาลัย และต้องไม่เกิน 3 วันของมหาวิทยาลัยหนึ่งๆ ถ้าเกินกว่านี้ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ทางมหาวิทยาลัยจะออกค่าใช้จ่ายให้ฟรีตามเงื่อนไขข้างต้น เพราะนี่เป็นหนึ่งในกระบวนการเฟ้นหานักกีฬาฝีมือดี ซึ่งโปรอุ๋ยเอง ได้มีโอกาสเยี่ยมสถาบันของ University of Florida, Duke , University of Southern California, Arizona State University และ University of Arizona การตัดสินใจของโปรอุ๋ยไม่รีบร้อนตัดสินใจ ต้องศึกษาทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ ปีที่โปรอุ๋ยเริ่มกำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นปีแรกๆเลยที่มีการปฏิวัติ การเข้าศึกษา คือ การให้คำมั่นสัญญา (Verbal Commitment) ซึ่งปีก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ทุกอย่างต้องมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหมด และนักกีฬาทุกคน ก็จะเข้าเยี่ยมชมครบ 5 สถานบันตามโควต้า แต่ปีที่โปรอุ๋ยเร่ิมสมัคร กลับกลายเป็นการทำสัญญาทุกอย่างเร็วขึ้น คนที่เริ่มก่อน ก็จะได้โควต้าก่อน ในที่สุดตัดสินใจเข้า Duke ซึ่งให้ทุนเรียนเพียง 47% ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยอื่นที่เข้ามารุมจีบสามารถโปรอุ๋ยได้ทุนเรียนเต็มจำนวนหมด อาทิเช่น University of Arizona ที่มองหานักกีฬาได้เก่งมาก ถ้าโปรอุ๋ยเลือกที่จะไปอยู่มหาวิทยาลัยนี้ ก็จะมีเพื่อนร่วมทีมที่เป็นนักกอล์ฟระดับโลกอย่าง Lorena Ochoa และ Natalie Gulbis และนักกอล์ฟอดีตมือหนึ่งตลอดกาล อย่าง Annika Sorenstam ก็จบจากที่นี่ แต่เหตุผลที่ตัดสินใจไป Duke เพราะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในฝัน ที่เก่งทั้งเรื่องเรียน และ เรื่องกอล์ฟ ส่วนคุณพ่อให้คำแนะนำว่า เชื่อว่าลูกน่าจะทำได้ดีพอที่ปีหน้าจะได้ทุนเต็มจำนวน และนั่นเป็นเหตุผลที่โปรอุ๋ยตอบตกลงที่จะรับทุนเพียงครึ่งหนึ่ง ทั้งๆที่โปรอุ๋ยมีหลายมหาวิทยาลัยที่ให้ได้มากกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่เข้า Duke เพราะโปรอุ๋ยอยากมีโอกาสได้เล่นกับ Beth Bauer ก่อนที่จะย้ายไปมหาวิทยาลัยเพียงสองอาทิตย์ ก็มีเหตุการณ์ที่เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายจากโค้ช ข่าวร้าย คือ Beth ตัดสินใจเทิร์นโปร โปรอุ๋ยจะไม่ได้มีโอกาสเล่นกับเธอ ส่วนข่าวดี คือ โปรอุ๋ยจะได้ทุนเรียนเต็มจำนวนของ Beth แทน
ในช่วงมหาวิทยาลัย โปรอุ๋ยเล่าว่า เป็นเรื่องที่แปลกมากเป็นทีมเต็งตลอด แต่ชนะทีมเพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งอาจเป็นเพราะจังหวะที่ไม่ลงตัว มีช่วงหนึ่งที่ Lorena ชนะมาตลอดเจ็ดรายการติดต่อกันก่อนที่จะลงแข่งรายการสุดท้ายเพื่อเทิร์นโปร โปรอุ๋ยดันมาตัดหน้ามาคว้าแชมป์ไปได้ซะก่อน ในคืนก่อนการแข่งขันวันสุดท้ายนั้น โปรอุ๋ยถึงขนาดกับไม่สบายใจ เลยปรึกษากับโค้ชว่า เราควรหลีกทางให้เค้าชนะดีมั้ย เค้าเป็นนางเอก แล้วจะได้เทิร์นโปรแบบสวยๆ แต่สิ่งที่โค้ชตอบกลับมาคือ แล้วเราไม่ใช่นางเอกหรอ คนที่เค้ามาดู มาดู Lorea Ochoa คนเดียวหรอ แล้วทีมเราที่เหลืออีกละ ในแมทช์นี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้ทีมชนะได้ เป็นเพราะว่าตลอดวันมีคนต้องการเราอยู่ เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อทีมและโค้ช ซึ่งในที่สุดโปรอุ๋ยก็เอาชนะทั้งเดี่ยว และ ชนะทีม มาได้ แต่รายการสุดท้ายของการแข่งขันสมัครเล่น Lorenna Ochoa เลยชวดแชมป์ไป
เราคุยเลยกันไปถึงก่อนที่คนๆหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ มันต้องเจออุปสรรคขวากหนามที่ท้าทายเราอยู่ข้างหน้าเสมอ ยิ่งอุปสรรคหนักขนาดไหน คนที่ผ่านมันมาได้ จะมองไม่เห็นอุปสรรค แต่จะเห็นแค่เป้าที่ตั้งไว้ นั่นหมายความว่า เป้าหมายควรจะต้องชัดเจนมาก ซึ่งแม้ว่า Lorena Ochoa จะแพ้แมทช์สุดท้ายของการแข่งกอล์ฟสมัครเล่น แต่เธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เธอถึงเป็นมือหนึ่งของโลก โปรอุ๋ยก็เคยเจออุปสรรคแบบนั้นเหมือนกัน ในรายการ U.S. Women Ameteur Public Link ที่ต้องพ่ายให้กับเด็กน้อยอายุเพียงแค่ 13 ปีอย่าง Michelle Wie ทั้งๆที่นำมาแล้วตลอดวันรอบสุดท้าย ซึ่งจริงๆฟอร์มการเล่นช่วงนั้น คือ ดีมากๆ แคดดี้รุ่นพี่ต้องคอยพูดให้กำลังใจตลอดเวลา แต่เหมือนแพ้ภัยตัวเอง แต่หลังจากแมทช์นั้น โปรอุ๋ยสามารถกลับมาชนะ U.S. Women’s Amateur ซึ่งรายการนี้ ลงแข่งเป็นปีที่สาม สองปีก่อนหน้านี้ เข้ารอบได้ดีที่สุดแปดคนสุดท้าย อาจเป็นเพราะ พละกำลังไม่ถึง แต่ในปีนั้น รู้ว่าตัวเองสามารถเอาชนะได้ เพราะเป็นปีที่สามที่ลงแข่ง และอีกอย่างได้แรงผลักดันจากความพ่ายแพ้ในรายการ U.S. Women Ameteur Public Link ในวันแข่งขัน ตอนเดินขึ้นคลับเฮ้าส์ มีความรู้สึกว่าถ้วยใบนี้ต้องเป็นของฉัน เป็นความรู้สึกที่แปลกมากเพราะปกติ จะเฉยๆ และเล่นเกมส์อยู่ในโหมดของตัวเอง ถามว่า ณ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าจะชนะรึเปล่า แต่สิ่งที่รู้แน่ๆว่า คือ เราไม่เป็นรองใคร มีผู้เล่นทั้งหมด 155 คน ไม่มีใครที่เราสู้ไม่ได้ ขอให้เราได้สู้เถอะ เมื่อนึกย้อนกลับไปในปีก่อน โปรอุ๋ยแพ้ในรอบแปดคนสุดท้าย และตอนนั้นก็รู้แล้วว่าคุณพ่อเป็นมะเร็ง เป็นช่วงที่เพิ่งเรียนจบปีสอง คุณพ่อก็เริ่มพาทัวร์ อากาศในช่วงนั้นก็ไม่ค่อยดีและฝนตก แต่โปรอุ๋ยขอคุณพ่อเข้าไปดูแมทช์ไฟนอล เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าเราเข้ารอบไม่ลึกถึงจุดนั้น อย่างน้อยก็ขอให้ได้สัมผัสบรรยากาศให้ใกล้ที่สุด เพราะปีหน้าต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ เมื่อจังหวะและโอกาสมาถึง ทำให้โปรอุ๋ย เป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่สามารถคว้าถ้วย U.S. Women’s Amateur มาครอบครองได้ (ในปีที่ชนะ สามารถเอาชนะนักกอล์ฟอเมริกัน เชื้อสายเกาหลี Jane Park มีการถ่ายทอดสดผ่านช่อง 7)
การเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Duke แล้ว การจัดตารางจะเดินตามแบบแผนที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ รายกาแข่งขันประจำปีที่มีก็จะตระเวนแข่งไปทั่วอเมริกา และเวลาในการฝึกซ้อมก็มีมากกว่าตอนอยู่มัธยมซะอีก สามารถจัดเวลาได้ง่ายกว่า ซึ่งก็มีบ้างที่แมทช์แข่งจะตรงกับช่วงสอบ ต้องมาคอยตามเก็บกันทีหลัง ถึงขนาดที่อาจารย์บางท่านแซวเล่นว่า นักกีฬาที่ขาดเรียนมากที่สุด คือ นักกีฬากอล์ฟ เพราะการแข่งขันส่วนใหญ่จะอยู่ในวันธรรมดา ในขณะที่กีฬาอื่นๆจะแข่งกันเสาร์อาทิตย์ โปรอุ๋ยมองว่า สี่ปีในมหาวิทยาลัย คือ การเตรียมตัวสู่การเป็นผู้ใหญ่ ในทุกๆด้านเลยก็ว่าได้
เป้าหมายชีวิตที่ต้องการจะเทิร์นโปร อยู่ในช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย และต้องเป็น LPGA Tour เท่านั้น ซึ่งเป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิตของโปรอุ๋ย จะชัดเจนและมีการวางแผนและเดินตามแผนเป็นอย่างดี เช่น ช่วงวัยเด็กที่เพิ่มเริ่มหัดเลย อยากได้ ถ้วยรางวัลแบบพี่ชาย ก็ซ้อมอย่างจริงจัง อยากเป็นทีมชาติ อยากได้ทุนเรียนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย จนกระทั่งเป้าหมายที่จะต้องการเข้า LPGA Tour เพราะฉะนั้นหลังเรียนจบ ก็เดินหน้าเต็มสตรีม มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อเข้า LPGA Tour เท่านั้น และในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ ปีแรกที่เทิร์น โปรอุ๋ยยอมรับว่ายากมากในช่วงหกเดือนแรก โดยเริ่มจากการควอลิฟายเพื่อคัดตัวเข้าไปเล่น ผลปรากฎว่าไม่ผ่านการตัดตัว และไม่ได้แม้กระทั่งสถานะที่เล่นได้เพียงบางแมทช์ ทาง IMG ที่โปรอุ๋ยเซ็นสัญญาอยู่ในค่ายด้วย เลยปลอบใจให้เล่น Futures Tour (เป็นทัวร์รองจาก LPGA Tour และตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Symetra Tour) ทั้งปีจะได้รู้ไปเลยว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นโจทย์ที่ทำให้โปรอุ๋ยกลับมาเริ่มทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อที่จะหาทางเข้า LPGA Tour ตามฝัน โดยเริ่มจากกระบวนการคิดว่าทำยังไงให้ได้ทัวร์การ์ด ต้องทำเงินให้ได้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ต้องชนะกี่แมทช์ โปรอุ๋ยเขียนออกมา ว่าต้องเล่นกี่แมทช์ เพราะเราจะตะลุยเล่นทุกแมทช์ไม่ได้ ต้องมีช่วงแข่ง ช่วงพัก ช่วงซ้อม ต้องมีสกอร์เฉลี่ยเท่าไหร่ ควรจะต้องตีสกอร์เท่าไหร่ถึงจะชนะ แล้วก็แตกย่อยรายละเอียดออกมาอีก ว่าเราต้องทำคะแนนจากตรงไหน เมื่อรู้ว่าต้องได้คะแนนจากพาร์ห้า เลยซ้อมแต่เหล็กสั้นหนักมาก ในช่วงนั้นการตีสกอร์เฉลี่ย 70 ถือว่าไม่ยากเกินไป เพื่อที่จะให้ได้สองอันเดอร์ ควรต้องได้อย่างน้อยสี่เบอร์ดี้ ให้โอกาสตัวเองเสียสองโบกี้ เหล็กยาวก็ปล่อยไป แต่เหล็กกลางกับสั้นต้องเอาให้ได้ ผลสรุปประจำปีออกมาปรากฎว่า คะแนนเฉลี่ยพาร์ห้าได้ที่หนึ่ง และชนะไปสองที ในปีนั้นจึงได้ทัวร์การ์ดเพื่อเข้าไปเล่นใน LPGA Tour ในปีถัดไป
สิ่งที่ทำให้ไม่ได้ไปต่อใน LPGA Tour เพราะเป้าหมายที่สร้างขึ้น เพียงแค่เพื่อไปให้ถึงทัวร์ พ่วงมาด้วยเรื่องคุณพ่อที่จากไปอีก หลายสิ่งอย่างประดังเข้ามาพร้อมๆกัน ช่วงที่คุณพ่อจากไปแรกๆ โปรอุ๋ยยังคงมีสติ เพราะ เอาใจและสมาธิไปอยู่กับหน้าที่แล้วจะได้ไม่เศร้า มันเป็นสัณชาตญาณเหมือนมีอะไรมาปิดกั้นความรู้สึกของตัวเอง และอีกอย่าง จะเรียกว่าเป็นความเคยชินก็ได้ เพราะใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวมาแล้วหลายปี จึงไม่คิดอะไรมาก ทำตามเป้าและหน้าที่ที่มีอยู่ ในงานวันสุดท้ายของคุณพ่อโปรอุ๋ยเอง ยังมีความรู้สึกรับผิดชอบเพราะใกล้วันแข่งเข้ามาทุกที ถึงขนาดคุณแม่ต้องขอร้องให้อยู่ลาคุณพ่อวันสุดท้าย แต่พอกลับอเมริกา ก็สามารถชนะแมทช์แรกได้เลย มันเหมือนเอาใจไปทุ่มเทให้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหมด แต่ใช่ว่าโปรอุ๋ยจะไร้ความรู้สึก เพราะสิ่งที่จำได้ตอนนั้น คือ ตอนแข่งก็ไม่ได้คิดอะไร คิดแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่พอแข่งเสร็จแล้วก็กลับมาร้องไห้ วนเวียนเป็นแบบนี้อยู่ช่วงหนึ่ง จนผ่านไปแล้วหนึ่งปี ถึงจะรู้สึกรับรู้แล้วว่า คุณพ่อได้จากไปจริงๆแล้ว เมื่อมาถึงจุดนี้ โปรอุ๋ยก็เริ่มน้ำตารื้น เพราะ ตั้งใจอุตส่าห์วางแผนมาด้วยกัน แต่มันจะไม่มีแผนร่วมกันอีกแล้ว แค่อีกนิดเดียวคุณพ่อก็จะได้เห็นความสำเร็จที่ร่วมสร้างมาด้วยกัน
แม้ว่าจะไปได้ถึง LPGA Tour และเป็นโปรกอล์ฟหญิงคนแรกของไทยที่ได้ทัวร์การ์ดเต็มตัวแล้ว แต่ตัวโปรอุ๋ยเองยังมีอะไรบางอย่างที่ติดอยู่ในใจ และสิ่งต่างๆที่ทุกคนคาดหวังว่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ในช่วงแรก โปรอุ๋ยเอง ก็ไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ แต่หากเราลองมองย้อนกลับไป อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เราทำได้ทำไป มันคือที่สุดที่เราสามารถทำได้แล้ว แต่หลังจากนั้นคือ การเป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งที่เราอยากมีจริงๆนั่นก็คือ มีความสุขกับชีวิตและครอบครัว และเชื่อว่าสิ่งที่มีในทุกวันนี้คือ สิ่งที่เราต้องการลึกๆหรืออาจเรียกได้ว่ามันออกมาจากจิตใต้สำนึก เมื่อเริ่มโตขึ้น มองเห็นอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น ทำให้หันมาสนใจคนรอบข้างมากขึ้น ส่วน LPGA Tour คือ การได้ไปถึงฝั่งฝันแล้วก็จริง มันรู้สึกติดค้างว่ามันไม่สำเร็จอย่างที่คิด แต่ถ้าคิดให้ดี กลับกลายเป็นตัวเราเองต่างหาก ที่ไม่ได้แม้แต่จะมีเป้าหมายด้วยซ้ำว่าเราต้องการอะไร เพราะการตั้งเป้าหมายที่ผ่านมา ตั้งเพื่อไปให้ถึงและมันคือ การสร้างเป้าหมายร่วมกันกับครอบครัวมาตลอด การตัดสินใจไม่ไปต่อใน LPGA Tour มีหลายปัจจัยด้วยกัน เพราะ เมื่อเล่นมาถึงปีที่สองและสาม ก็เริ่มเล่นไม่ค่อยดี รวมทั้งมีอาการบาดเจ็บ จึงตัดสินใจผ่าตัด และหยุดพักหนึ่งปี เริ่มมีความรู้สึกเฉยๆกับการซ้อม อีกทั้งไม่สามารถซ้อมได้หนักเหมือนเมื่อก่อน เลยตัดสินใจกลับมาไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
เมื่อกลับมาประเทศไทย ช่วงแรกก็เคว้งอยู่พอสมควร แต่ก็ได้คุณเรวดี ต.สุวรรณ อดีตนายกสมาคมกอล์ฟสตรีแห่งประเทศไทย ให้มาช่วยดูแลเป็นผู้จัดการนักกอล์ฟทีมชาติไทย ชุด ควีนสิริกิติ์ ซึ่งโปรอุ๋ยก็เต็มที่กับทีมมาก ต้องดูแลทุกๆขั้นตอน จัดระเบียบ ทั้งเรื่องการฝึกซ้อม และดูแลตัวเอง กิริยามารยาท การเข้าสังคม และสำคัญที่สุดคือ ระเบียบวินัยของนักกีฬา ซึ่งน้องๆที่เติบโตไปแล้วหลายรุ่นก็ได้เป็นผู้เล่นชั้นแนวหน้าทั้งนั้น จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ดูแลมากว่าเจ็ดปีแล้ว นอกจากนี้ โปรอุ๋ยยังเป็นพิธีกรร่วม รายการทีออฟ ซึ่งนอกจากจะเป็นพิธีกรแล้ว ก็ต้องคิดคอนเซป รูปแบบเนื้อหารายการ ทำให้ได้มีโอกาสจากทางช้างเชิญให้เป็นหนึ่งในผู้ช่วยฝึกสอนพิเศษในแคมป์เยาวชนที่จัดขึ้นทุกปี นอกจากนี้โปรอุ๋ยได้รับเชิญให้เป็นพิธีกรมากมาย อาทิเช่น ช่อง FOX Sport จะเห็นได้ว่า คนๆหนึ่ง หากมีความตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จ จำเป็นต้องมีความฝันและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน นอกจากนี้ต้องมีความแน่วแน่ และไม่อ่อนไหวต่อสิ่งเร้ารอบข้างที่จะทำให้เราไขว้เขว เมื่อเรามีเป้าหมาย หากเราวางแผนไม่ดี เราก็อาจไปไม่ถึงฝัน การมีเพื่อนร่วมเดินทางที่ดีที่จะช่วยวางแผน และเป็นกำลังใจให้กันและกัน จะช่วยทำให้เราบรรลุสิ่งที่เราคาดหวังได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญ ระหว่างการเดินทางตามความฝัน การแบ่งปันความสำเร็จร่วมกับคนที่เรารัก เป็นเชื้อเพลิงที่ดีในการสานต่อความฝัน แน่นอนว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลสำหรับโปรอุ๋ย วิรดา นิราพาธพงศ์พร และมีอีกหลายบทเรียนที่ต้องเจอะเจอ หากคิดถึงโปรอุ๋ย สามารถติดตามเรื่องราวอัพเดตของเธอได้ผ่านช่องทาง Facebook หรือ Instagram กันได้นะคะ
ข้อคิด
การทำงานทุกอย่างต้องมีเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ยิ่งเป้าหมายชัดเราจะยิ่งใกล้เป้าหมายมากขึ้น
การวางแผนที่ดี ควรวางแผนให้ละเอียดมากที่สุด และใช้ศาตร์ความรู้ที่เรามีทุกด้านให้เกิดประโยชน์ ต่อแผนที่เราวางไว้
ความสำเร็จ อาจบอกคุณค่าของคน แต่ความสำเร็จจะไม่มีความหมายเลย หากคนในครอบครัวไม่ได้ร่วมแบ่งปันความสุขนั้นๆ
ในทุกความมุ่งมั่นมีความสำเร็จเป็นรางวัลรออยู่ข้างหน้า
จงใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดกับคนที่คุณรัก
Comments