top of page

ป้าติ๋ม แห่ง TALGA (สมาคมกอล์ฟสตรีสมัครเล่น)

  • Writer: oilhath
    oilhath
  • Feb 15, 2019
  • 1 min read

สวัสีดีค่ะท่านผู้อ่าน เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีวันหยุดเยอะมาก อันเนื่องมาจากเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ของบ้านเรา ส่วนที่เดือนนี้ เป็นเดือนของนักกอล์ฟ นั่นก็เพราะเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการสินะคะ นอกจากนี้ยังเป็นเดือนของ The Masters ซึ่งปีนี้เราจะได้เห็นดารานักกอล์ฟดังๆมากมาย และที่พลาดไม่ได้ นั่นก็คือ ไทเกอร์ วู้ดส์ ลงแข่งในปีนี้ด้วย ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในควอเตอร์แรกของปี หลังจากพักฟื้นจากการผ่าตัดมากว่าสองปี มิหนำซ้ำยังมีโปรอาร์ม กิรเดช อภิบาลรัตน์ นักกอล์ฟไทยคนเดียวที่ได้เข้าแข่งขันในรายการนี้ ผู้เขียนรู้สึกเสียดายจริงๆที่ควรจะไปปีนี้ซะมากกว่า เพราะปีที่แล้ว ขนาดมือหนึ่งของโลกอย่าง ดัสติน จอห์นสัน ก็ยังขอถอนตัวเพราะตกกระไดที่บ้านพัก ส่วนเดือนนี้ อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง ในเรื่องของเบื้องหลังนักกอล์ฟอาชีพที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่จะขอเริ่มจากบุคลากรที่หลายคน มองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่เค้าเหล่านั้นเป็นฟันเฟืองที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ผ่านเรื่องราวมาเยอะเหลือเกิน นั่นก็คือ ป้าติ๋ม แห่ง TALGA (สมาคมกอล์ฟสตรีสมัครเล่น)

เรามาเริ่มทำความรู้จักกันก่อนนะคะว่า ป้าติ๋มเป็นใคร และเกี่ยวอะไรกับ สมาคมกอล์ฟสตรี และสมาคมฯ มีความเป็นมายังไงค่ะ โดยแรกเริ่มเดิมที สมาคมนักกอล์ฟสตรีสมัครเล่น จดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านกีฬากอล์ฟสำหรับสตรีในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2521โดยมีหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา โดยในปีแรกที่ก่อตั้ง สมาคมฯ มีนักกอล์ฟสตรีมาสมัครเป็นสมาชิกเกือบ 100 ราย ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานั้นกอล์ฟจะเป็น กีฬาที่เล่นกันในวงจำกัดของสังคม สมาคมฯ ก็ได้สร้างความตื่นตัวในด้านต่างๆ ขึ้น จนมีสตรีจำนวนมากเริ่มหันมาเล่นกอล์ฟ เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง สมาคมฯได้ช่วยส่งเสริมความสนใจโดยการจัดแข่งขันและส่งทีมไปแข่งที่ต่างประเทศ และจากการที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในต่างประเทศ ทำให้มีการส่งเสริมให้กีฬากอล์ฟ เป็นกิจกรรมที่สร้าง สัมพันธไมตรี ระหว่างนักกอล์ฟนานาชาติ ดังนั้น สมาคมฯ จึงได้ริเริ่มจัดการแข่งขันทีมชาติชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ หรือ \"ควีนสิริกิติ์คัพ\" การแข่งขันนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีสำหรับทีมนักกอล์ฟจากประเทศสมาชิก โดยการแข่งขันนี้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีประเทศสมาชิก 13 ประเทศหมุนเวียนกันเป็น เจ้าภาพการแข่งขันถ้วยควีนสิริกิติ์คัพ ก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้อง ส่งเสริมกีฬากอล์ฟสำหรับสตรีในระยะยาว เพราะต้องเตรียมทีมชาติสำหรับการแข่งขันรายการต่างๆ เช่น ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ การแข่งขันถ้วยเอสปิริโต ซานโต และการแข่งขันกอล์ฟสตรีสมัครเล่นอื่นๆ ทั่วภูมิภาค ดังนั้น สมาคมฯ จึงจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาฝีมือนักกอล์ฟหญิง” ขึ้น 14 ปีต่อมา เมื่อปี 2527 เริ่มมีการจัดโปรแกรมการฝึกให้นักกอล์ฟเยาวชนหญิงที่ฝีมือ มีแนวโน้มสามารถจะพัฒนาเข้าสู่ระดับทีมชาติได้ เพื่อเตรียมให้เป็นตัวแทนประเทศ ไปแข่งขันรายการต่าง ๆ จากจุดนี้เอง ที่ทำให้ ป้าติ๋ม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงทีมชาติไทย ชุด ควีนสิริกิติ์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและดูแลนักกอล์ฟทีมชาติมารุ่นต่อรุ่น

ป้าติ๋ม หรือ ชื่อจริง คือ คุณพรรณอัมภา พรภีรพาน ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการพัฒนาทีมชาติ จุดเริ่มต้นของป้าติ๋ม เป็นคนชอบตีกอล์ฟ เรียกได้เลยว่าชอบแข่งกอล์ฟล่ารางวัล พอเล่นเรื่อยๆก็เริ่มแข่งต่างประเทศ แล้วทางสมาคมฯก็เริ่มชักจูงให้มาเป็นประชาสัมพันธ์ โดยอันที่จริงแล้ว ขณะนั้นป้าติ๋มเองเป็นเจ้าของรีสอร์ทอยู่ที่เกาะกูด จ.ตราด รวมไปถึงเป็นเจ้าของเกาะกระดาษที่มีโฉนดที่เดียวของประเทศไทย แต่ด้วยใจรักในกีฬากอล์ฟ จึงเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์ ซึ่งตำแหน่งต่างๆนั้น ส่วนใหญ่จะล้วนเป็นอาสาสมัคร ให้กับทางสมาคมฯ ป้าติ๋มเริ่มมาช่วยทีมชาติ หลังจากผู้จัดการคนก่อนหมดช่วงเทอม ในทุกๆสองปี หลังจากนั้นป้าติ๋มก็รับตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ 27 ปี โดยหน้าทีหลักๆก็คือ การเป็นผู้จัดการทีม โดยผู้จัดการทีมจะดูแล การฝึกซ้อมของนักกีฬาให้มีวินัย ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ รู้จักการแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ ดูแลความประพฤติ การพูดจา ทำให้ได้รับคำชมจากนานาชาติมากมาย ด้วยป้าติ๋มเองเป็นคนร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี ทำให้เป็นที่สนิทสนมและรักใคร่ของน้องๆทีมชาติ รวมไปถึงสนิทสนมกับผู้ปกครอง โดยป้าติ๋มกล่าวว่า เพื่อให้เข้าใจผู้ปกครองได้มากขึ้นเพราะน้องๆแต่ละคนพื้นฐานจะต่างกัน ป้าติ๋มเริ่มดูแลนักกีฬาตั้งแต่รุ่นพี่ฝน รัศมี กัลยาณมิตตา, พี่หมู อรนรินทร์ สัตยาบรรพต จนถึงปัจจุบัน ป้าติ๋มก็ยังดูแลตลอด เพราะจะมีการโหวตจากเพื่อนสมาชิกในสมาคมฯ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่ง ป้าติ๋มกล่าวว่า งานนี้เป็นงานหนัก เพราะ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ก็ต้องอยู่กับนักกีฬาตลอด สมัยก่อนยังไม่มีการออกกำลังเทรนนิ่งที่เข้มข้น อาจจะต่างคนต่างซ้อมบ้าง แต่สมัยนี้ต้องเข้มข้น และพัฒนาฝีมือนักกีฬาให้มากที่สุด โดยทำการคัดเลือกนักกีฬาด้วยการแข่งขันกันสี่วัน เพียงครั้งเดียว ให้ได้นักกีฬาทั้งหมดหกคน และจะมีการเก็บตัว ซึ่งทีมชาติในช่วงหลังเร่ิมมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ก็เพราะมีโปรอุ๋ย วิรดา นิราพาธพงศ์พร มาเสริมทัพเมื่อประมาณสามสี่ปีก่อน โปรอุ๋ย ซึ่งอดีตก็เคยเป็นทีมชาติชุดนี้เหมือนกัน เมื่อมาเป็นโค้ชให้กับทีม จะต่างจากการจ้างโค้ชคนอื่นๆ เช่น เคยจ้างโค้ชฝรั่งมาก่อน จ้างโปรไทย แต่ก็ไม่สามารถเข้ากับทีมและกลมเกลียวได้เท่ากับโปรอุ๋ยๆ ทำให้ทุกอย่างราบรื่น ไปด้วยกันกับน้องๆได้ดี รู้ว่าต้องเพิ่มอะไรบ้าง ถือว่าตอบโจทย์ทุกอย่างครบครัน เพราะการพัฒนาทีมชาติให้ไปได้ไกล ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการฝึกโปรแกรม ใช้เวลาร่วมกัน โดยตารางจะอยู่ด้วยกัน สองถึงสี่ครั้งต่ออาทิตย์ และแน่นอนว่าแบบฝึกคือการฝึกซ้อมแบบโปร เทรนนักกีฬาทั้งหมดสามเดือนก่อนการแข่งขันควีนสิริกิต์ ก่อนการแข่งจะคัดนักกีฬาให้เหลือสามคน โปรอุ๋ยถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่มาอัพเกรดทีมชาติชุดหลังๆ โดยทีมชาติสมัยนี้ มีอายุที่น้อยมากๆ ตั้งแต่อายุ 12-16 ปี จึงทำให้ต้องมีการสอนมารยาทตั้งแต่การใช้ชีวิตที่อยู่ร่วมกัน และด้วยภาระนี้เองที่ทำให้ป้าติ๋มไม่ค่อยได้กลับไปตีกอล์ฟ และไม่ได้จริงจังเหมือนสมัยก่อน สิ่งที่เป็นแรงผลักดันที่มาถึงจุดนี้ได้ คือ การเห็นนักกีฬาทีมชาติก้าวไปเป็นนักกอล์ฟอาชีพ เห็นถึงความมุ่งมั่น แล้วเราก็เป็นส่วนนึงของการเติบโตของความสำเร็จเหล่านั้น เห็นการเติบโตของน้องๆแล้วก็อมยิ้มไปกับความสำเร็จของเค้า ซึ่งการเป็นอาสาสมัครแบบนี้หายาก ใครละจะมาเสียเวลา และแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ได้รับอะไรตอบแทน การทำด้วยใจรักจริงๆ ทำแล้วมีความสุข อีกไม่นานป้าติ๋มเอง ก็ต้องวางมือ และหวังว่าในประเทศไทย อยากให้คนที่มีใจรักกอล์ฟ อยากที่จะพัฒนาและเป็นแรงผลักดันวงการกอล์ฟไทยต่อไป


 
 
 

Comments


© 2023 by Fashion Diva. Proudly created with Wix.com

bottom of page