top of page

Golfer VS. Social Media

  • Writer: oilhath
    oilhath
  • Jun 30, 2017
  • 1 min read

เริ่มประเด็นในคอลัมน์นี้ ก็ต้องขอแสดงความยินดีให้กับสุดยอดโปรหญิงของเมืองไทยที่นอกจากจะทำให้ครอบครัวและตัวเธอเองบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ยังทำให้ประเทศชาติมีความสุขไปพร้อมๆกับเธอด้วย นั่นก็คือ โปรเม เอรียา จุฑานุกาล นั่นเอง ซึ่งตั้งแต่เริ่มเขียนมาและได้มีโอกาสเจอน้องๆที่สหรัฐฯนั้น คาดการณ์ได้ไม่ยาก และ ไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อยว่าจะขึ้นมือหนึ่งของโลกได้หรือไม่ เพราะนอกจากพรสวรรค์ พรแสวง โอกาสต่างๆที่เข้ามาแล้วนั้น สิ่งที่ทำให้น้องๆขึ้นไปอยู่ในระดับท๊อปของโลกได้ นั่นก็คือ ความคิด Attitude ที่โตกว่าเด็กทั่วไป เพราะฉะนั้น ถ้าเมยังคงยืนความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจได้อย่างมั่นคง คงไม่ยากที่จะสามารถเป็นมือหนึ่งของโลกได้ไม่ต่ำกว่าสิบปี แต่ที่แน่ๆ ในวันนี้ ดิฉันไม่ต้องการมาวิเคราะห์ว่าใครจะอยู่ หรือใครจะไป แต่จะเป็นเรื่องของสิ่งเร้ารอบข้างมากกว่า เราจะเห็นได้ว่า อะไรก็แล้วแต่ ที่มีคำว่า สื่อนำหน้า ไม่ว่าจะเป็น สื่อออนไลน์ สื่อมวลชน สื่อต่างประเทศ สื่อไทย หรือแม้กระทั่งสื่อโซเชียลมีเดีย คำว่าสื่อ ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อโจทย์นั้นๆอยู่เสมอ สามารถนำเสนอได้ทั้งดี และ ร้าย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆทั้งทางตรง และทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสัปดาห์ที่โปรเม กำลังจะก้าวขึ้นมือหนึ่งของโลกนั้น มีการรายงานผลที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งเกิดจากการผิดพลาดทางระบบเองก็จริง แต่สื่อต่างๆกลับแชร์ข่าวไปแล้วว่าโปรเมย์ได้ขึ้นเป็นมืออันดับหนึ่งของโลกแล้ว อันที่จริง ถ้าดูตามคะแนน บอกได้ตามตรงว่า น้องสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งได้สบายๆ อยู่ที่สัปดาห์ไหนก็แค่นั้น แต่สื่อต่างหากที่ได้แชร์แสดงความยินดีต่างๆนานา ก่อนที่จะตรวจสอบความจริง อันที่จริงข่าวแรกที่ได้รับ คือ การวิจารณ์ว่าโปรเม มีสิทธิ์ลุ้นอันดับหนึ่งในสัปดาห์ถัดไป แต่ก็เกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร ทำให้แสดงความยินดีกันยกใหญ่ สำหรับการยกตัวอย่างเหตุการณ์นี้ ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไร เราทุกคนน่าจะตั้งคำถามแรกก่อนว่า จริงหรือไม่ ซึ่งไม่น่ายากที่จะเข้าไปถามอากู๋นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ยกตัวอย่างของเม เพราะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ที่จะกระทบถึงตัวนักกีฬามากนัก เพราะมันเป็นเรื่องการแสดงความยินดี แต่เราจะเห็นหลายครั้งที่นักกีฬาจะเป๋ไปบ้าง กับ เรื่องราวที่ไม่ดีซะมากกว่า อย่างกรณีของน้องเมย์ รัชนก นักกีฬาแบดมินตัน ที่ทุกๆคนให้ความสนใจในช่วงที่จะเป็นมือหนึ่งของโลก หรือ กรณีศึกษาของพญาเสือ ไทเกอร์ วู้ดส์ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ในเรื่องของความเป็นนักกีฬามืออาชีพ แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องครอบครัว และ อาการบาดเจ็บ แน่นอนว่าสื่อต่างประเทศ ก็จะมีทั้งเสนอข่าวทั้งด้านดีและไม่ดี (ช่วงหลังมักจะไม่ค่อยดี) ทำให้ต้องออกมาแถลงข่าวให้เห็นบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันทั้งสิ้น เพราะอย่าลืมว่านักกีฬา ก็คือ คน ซึ่งคนๆนั้น ได้ทุ่มเท เสียสละ ทั้งชีวิตเพื่อผลลัพธ์ที่ดี แต่อย่าลืมว่า จิตใจ ก็เป็นสิ่งละเอียดอ่อน ภูมิต้านทานของนักกีฬาแต่ละคน ก็จะแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากความกดดันด้านการแข่งขัน ครอบครัว คู่แข่ง ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าใช้เงินจ้างหมอ หรือ ซื้ออุปกรณ์มาแก้ไข แล้วจะหาย แต่เกิดจากการบ่มเพาะทางความคิดแรมปีค่อยๆก่อทรายสร้างขึ้นมาทีละนิดๆต่างหาก ดังนั้นจะเห็นว่า เด็กๆนักกีฬารุ่นใหม่จะอยู่ได้ทนทาน เก่งกว่า นักกีฬายุคเก่า เพราะ พวกเค้าเกิดมากับสื่อต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าคนยุคก่อนจะอยู่ไม่ได้ แต่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ยกตัวอย่างเช่น ไทเกอร์ วู้ดส์เอง ด้วยเกมส์การเล่นที่ดุดัน ไม่สุงสิงกับใครเยอะ เหมือนม้าที่ปิดตาแล้วลุยแข่งอย่างเดียว ในช่วงแรกที่มีสื่อโซเชียลต่างๆ เค้าไม่ค่อยได้เล่นหรือใช้เวลากับมันซักเท่าไหร่ เมื่อโลกได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในปีที่แล้ว เค้าได้เริ่มนำสื่อโซเชียลที่เค้ามี ก่อให้เกิดประโยชน์ สร้างกระแส ขายโฆษณาได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับโปรหนุ่มรูปหล่อร่างเล็กอย่างริ้กกี้ ฟาวเลอร์ ถือว่าเป็นโปรกอล์ฟรุ่นใหม่ที่มากับกระแสโซเชียล ริ้กกี้เป็นนักกอล์ฟฝีมือดีจากโอกลาโฮม่า สเตท เรียกง่ายๆว่าเป็นวัยรุ่นที่โตมากับกอล์ฟและสื่อโซเชียล เค้าโพสต์เรื่องส่วนตัวเหมือนกับเด็กทั่วไป ซึ่งแฟนๆที่ติดตามก็จะชื่นชอบ เพราะดูเป็นนักกีฬาที่เข้าถึงง่าย เอ็นเทอร์เทนผู้ชม บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ต่างๆ เค้าเป็นตัวอย่างที่ดีที่อยู่กับสื่ออย่างมีความสุขและเรียกได้ว่าเป็นแรงผลักดันให้ก้าวขึ้นมาเป็นนักกอล์ฟระดับโลก ด้วยความเป็นแฟชั่นนิสต้า เรียกกระแสจากสปอนเซอร์ได้ทั่วโลกบวกกับโชว์ไลฟ์สไตล์ บอกได้เลยว่า สปอนเซอร์ที่นอกเหนือจากวงการกีฬา ก็สามารถมาสปอนเซอร์เค้าได้ จะเห็นได้ว่า นักกีฬาไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด ก็สามารถหาสปอนเซอร์ได้จากการเป็นตัวของตัวเอง ใช่ว่าตัวริ้กกี้เอง จะไม่เคยได้รับคำสบประมาทจากสื่อนอก เมื่อปลายปีที่แล้ว มีสื่อนอกวิเคราะห์ผู้เล่นว่าริ้กกี้ ไม่น่ามีสิทธิ์ได้แชมป์ แต่ด้วยคำสบประมาทนี้เอง ที่ทำให้ริ้กกี้ขึ้นมาเป็นแชมป์ในรายการนั้นๆ และนั่นคือ แรงผลักดัน นั่นคือสิ่งที่กล่าวได้ว่า อยู่กับสิ่งที่มีให้เป็นและมีความสุข นอกเหนือจากนี้ ทัวร์ต่างๆเอง ก็ได้เห็นถึงผลกระทบทางอ้อมว่า ยิ่งมีแฟนคลับติดตามนักกีฬาในทัวร์มากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่า ยอดผู้ชม ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย และสิ่งเหล่านี้เอง ก็จะสามารถนำไปเคลมกับสปอนเซอร์ให้มาสนับสนุนทัวร์ต่อไป ทัวร์ก็จะอยู่รอด ยกตัวอย่างเช่น เราจะเห็นนักกอล์ฟหญิงในแอลพีจีเอทัวร์ รวมทั้งโม เม เอง หลังจบการแข่งขันทุกครั้ง ก็จะมีภาพของรายการที่ลงแข่งขันและการกล่าวคำขอบคุณสปอนเซอร์ตัวเองและรายการนั้นๆ รวมถึงแสดงความยินดีกับแชมป์ และพูดถึงความรู้สึกของตัวเองบ้างเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสื่อให้เห็นว่านักกีฬาคนนั้น เป็นมืออาชีพ ที่สมัยนี้ นอกเหนือจากการไปไล่ล่าเงินรางวัลกันแล้ว คือการสร้างให้ตัวเองเป็นซุปเปอร์สตาร์ ในทุกๆด้าน เพราะทุกครั้งที่มีสปอนเซอร์เขัามาหาคุณ นั่นหมายความว่า คุณเป็นสินค้าตัวหนึ่งของเค้า เพื่อสร้างความเป็นแบรนด์ที่เป็นบวกต่อผู้พบเห็น

บทสรุป คือ ณ ยุคสมัยนี้ นักกีฬาควรจะอยู่กับสื่อโซเชียลให้เป็น เมื่ออยู่เป็น สื่อต่างๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม แน่นอนว่า ถ้ามากไป ก็จะเกิดข้อเสีย เช่น นักกีฬาเอง จะเสียสมาธิเป็นเรื่องหลักๆ ผลกระทบย้อนหลังต่างๆนานา ที่ยากจะคาดเดา แม้แต่กระทั่งตัวท่านนักกอล์ฟเอง หากเราสามารถจัดสรรเวลาได้ในสนามกอล์ฟ เช่น เมื่อเราไปออกรอบกับเพื่อนๆ เราก็ควรจะเอ็นจอยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สังสรรค์เฮฮากับเพื่อนร่วมก๊วน มากกว่าการแชทกันในสนามกอล์ฟ หรือ สนามไดร์ฟ เท่านี้ กอล์ฟก็จะอยู่เป็นเพื่อนคุณไปได้อีกนาน ในเดือนหน้า จะเป็นเรื่องอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ


Comments


© 2023 by Fashion Diva. Proudly created with Wix.com

bottom of page