10 ปี เส้นทางของ Honda LPGA Tour
- oilhath
- Feb 28, 2017
- 1 min read

หากย้อนเวลาไปเมื่อสิบปีที่แล้ว การแข่งขันแอลพีจีเอทัวร์ ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และเป็นความใฝ่ฝันของเด็กผู้หญิงหลายคน ที่อยากเข้าไปอยู่ในทัวร์หญิงระดับโลก แต่ ณ วันนั้น ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการจัดการแข่งขันระดับโลกแบบนี้ ดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในเด็กคนนั้น ที่ใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอยากที่จะเข้าไปโลดแล่นอยู่ในทัวร์ระดับโลกให้ได้ และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเข้าไปสัมผัสกับทัวร์ที่ใฝ่ฝัน โดยที่ตอนนั้น ทางการจัดการแข่งขันได้มีการคัดเลือกโปรกอล์ฟหญิง แต่ดิฉันเองไม่ทราบข่าว จึงพลาดโอกาสคัดเลือกนั้นไป แต่นับเป็นความโชคดี ที่มีการเปิดรับสมัครคัดเลือกแคดดี้ ที่ไปช่วยถือถุงให้นักกอล์ฟแอลพีจีเอ ดิฉันมั่นใจว่าได้แน่นอน จึงสมัครซึ่งการคัดเลือกนั้น จะมีทั้งชายและหญิง และดิฉันเองก็ติดหนึ่งในห้าคน นอกเหนือจากนั้น มีการสอบสัมภาษณ์จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะที่สอบสัมภาษณ์นั้น คณะกรรมการได้สอบถามว่า ดิฉันเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ไม่น่าจะแบกถุงกอล์ฟไหว จะทำได้มั้ย เพราะการแข่งขันใช้เวลาถึงสามวัน น้ำหนักถุงกอล์ฟขั้นต่ำก็อย่างน้อยสิบห้าโล ด้วยความที่เป็นคนเล่นเวทเทรนนิ่งอยู่แล้ว และแบกถุงกอล์ฟตีเองในระดับเยาวชน เรื่องแค่นี้สบายมาก ยิ่งถ้าไม่ได้ตีกอล์ฟด้วย แค่แบกเฉยๆ แทบจะเป็นเรื่องธรรมดาๆที่นักกีฬาคนหนึ่ง สามารถทำได้อยู่แล้ว ดิฉัน จึงเป็นหนึ่งในห้าแคดดี้ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปช่วยแบกถุงกอล์ฟให้กับโปรกอล์ฟในแอลพีจีเอทัวร์ ในการแข่งขันครั้งนั้น มีนักกอล์ฟไทยทั้งหมดที่ได้เข้าเล่นในปีแรก ด้วยกันถึง หก คน เพื่อนๆนักกอล์ฟที่พึ่งเทิร์นโปรอย่าง โปรวิ่ง ภรณีย์ ชุติชัย โปรเน็ต นนทยา ศรีสว่าง โปรแหวน พรอนงค์ เพชรล้ำ ได้รับคัดเลือกเข้าไปเล่นในปีแรก ส่วนโปรรุ่นพี่ที่สร้างสีสันและเป็นที่เชิดหน้าชูตาคงไม่พ้น โปรอุ๋ย วิรดา นิราพาธพงศ์ธร และนี่ยังไม่รวมถึงแฝดมหัศจรรย์ลูกครึ่งไทยเกาหลี อารีย์ วงศ์ลือเกียรติ และสเตซี่ พรามณสูตร นักกอล์ฟไทย-อเมริกัน ก็ได้เข้าร่วมเล่นด้วยเช่นกัน ยุคนั้น ถือว่าการได้เข้าเล่นในแอลพีจีเอทัวร์ แถมมาจัดในบ้านเรา เป็นเรื่องที่เจ๋งมาก แม้ว่าในปีนั้น โปรสาวไทย อาจจะยังทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าประทับใจ แต่ความล้มเหลวเล็กๆนี่แหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดหนึ่งของโปรกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก บางคนก็ใช้เวลาเพืยงไม่กี่ปีได้รับทัวร์การ์ด บางคนก็ใช้เวลาถึงสิบปี แต่สิ่งเหล่านี้ ทำให้มองเห็นถึงศักยภาพของคนไทยที่มีความจำเป็นอย่างมาก ที่ควรจะได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน อย่างจริงจัง สิบปีที่ผ่านมา ถึงเป็นเครื่องพิสูจน์อะไรๆได้หลายอย่าง เปรียบเทียบเหมือนโปรโทไทป์ รุ่นแรก ที่เมื่อได้รับการสนับสนุนแล้ว นักกอล์ฟแทบทุกคนที่กล่าวมา ยังคงโลดแล่นอยู่ทั้งในแอลพีจีเอทัวร์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ เจแปนทัวร์ แม้บางคนอาจจะล้มเลิกการเล่นอาชีพ แต่ก็ยังคงโลดแล่นและเป็นที่รู้จักในวงการกอล์ฟ
ในครั้งนั้นที่ได้มีโอกาสไปแบกถุง ดิฉันมีโอกาสได้เลือกระหว่าง Tracy Hanson ซึ่งเล่นอยู่ในทัวร์มาสิบปี กับ Jane Park นักกอล์ฟรุ้กกี้ รุ่นราวคราวเดียวกับดิฉัน และแน่นอน ประสบการณ์เป็นสิ่งมาก่อนอันดับแรกสำหรับดิฉัน จึงเลือกที่จะถือให้กับ Tracy ในการแข่งขันนั้น Tracy ได้ออกก๊วนเดียวกันกับ Cristie Kerr จอมเก๋าของวงการ ถึงสองวัน นั่นยิ่งทำให้ดิฉันเรียนรู้อีกว่า คุณไม่จำเป็นต้องตีดีที่สุด แต่คุณต้องแข็งแกร่งที่สุดต่างหาก และแน่นอน เมื่อจบการแข่งขันนั้น ทำให้ดิฉันรู้เลยว่า เราทุกคน มันมีเส้นบางๆถ้าเราก้าวผ่านไปได้ สามารถไปถึงทัวร์นี้ได้ทุกคน ตราบใดที่ทุกคนพยายามในแนวทางที่ถูกต้อง ทุกคนสามารถไปได้แน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งการมาแบกถุงครั้งนี้ มีแต่กำไร เพราะทำให้เรามองเห็นในอีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากการเป็นนักกีฬา ได้มิตรภาพและ ประสบการณ์ที่ในยุคนั้น น้อยคนนักที่จะมีโอกาสดีๆแบบนี้ และ Tracy เอง แม้ ณ วันนี้ เธอจะเลิกเล่นกอล์ฟไปแล้วก็ตาม แต่ ณ วันนั้น ดิฉันไม่ผิดหวังในตัวของเธอเลย เพราะเธอใจดีและเป็นกันเองมาก มีครบของความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งว่า กีฬากอล์ฟ ปัจจัยหลักคือ เราต้องตีดีนั้น เป็นเรื่องจริง แต่ก็จำเป็นต้องมีหลายองค์ประกอบเป็นสิ่งเสริมกัน กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาที่สมบูรณ์แบบ นักกอล์ฟรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นยุคทอง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงตกต่ำของวงการกอล์ฟ เนื่องจากมีการพัฒนาวงสวิงพื้นฐานที่ดีขึ้น เมื่อเริ่มต้นดี ก็สามารถพัฒนาต่อยอดได้ไม่ยากและไปได้เร็ว วิทยาศาสตร์การกีฬาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในแบบรุ่นพี่มาสอนรุ่นน้อง มีนักจิตวิทยาการกีฬาที่เป็นมืออาชีพ มาเป็นสะพานเชื่อมความสำเร็จ ทำให้ปลดล็อกทางความคิดได้ง่ายขึ้น และยังมีสื่อโซเชียลมีเดียที่ให้ความบันเทิงสื่อถึงกันทั่วโลก และยังสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างเหล่านักกีฬาและสปอนเซอร์ สิ่งเหล่านี้ เมื่อสิบปีที่แล้ว ยังไม่มีให้เห็น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมนักกอล์ฟเยาวชนไทยในยุคนั้น ถึงอยากที่จะไปเรียนและได้รับทุนของมหาวิทยาลัยในอเมริกา กันนักหนา นอกจากได้รับทุนแล้ว ยังได้เปิดหูเปิดตาในโลกอันกว้างใหญ่ สอนให้แข็งแกร่งขึ้น เพราะได้ทั้งเรียน และเล่นกีฬาไปด้วย ทำให้ต้องจัดเวลาให้เป็น แต่ก็อย่าลืมว่า เมื่ออยู่ที่นู่นแล้วเด็กๆก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตได้ง่ายๆเช่นกัน
ก่อนปิดท้ายคอลัมน์นี้ การแข่งขันที่ยิ่งใหญ่รายการหนึ่งของประเทศ จะยังคงมีต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีนักกอล์ฟไทยปลดล็อกแชมป์ในประเทศบ้านเกิด และสุดท้ายอยากฝากว่า กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาที่เราสามารถตีได้ตั้งแต่เราสามารถเดินได้ จนกระทั่งเดินไม่ไหว กอล์ฟสำหรับบางคน อาจเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่ใช่ แต่เราควรพึงระลึกเสมอว่า กอล์ฟคือกีฬา ที่มาเติมเต็มความสุข และ มิตรภาพให้ทุกๆคน
Comments